“ปลาบึก” ปลาสายพันธุ์ใหญ่ยักษ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

สายพันธุ์
My Blog

“ปลาบึก” ปลาสายพันธุ์ใหญ่ยักษ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

ปลาบึก  เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีเกล็ด อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่ประเทศจีน, ลาว, พม่า, ไทย เรื่อยมาตลอดความยาวของแม่น้ำรวมไปถึงแควสาขาต่าง ๆ เช่น แม่น้ำงึม, แม่น้ำมูล, แม่น้ำสงคราม แต่ไม่พบในตอนปลายของแม่น้ำโขงที่เป็นน้ำกร่อย ซึ่งเป็นจุดที่ไหลออกทะเลจีนใต้ เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการจับปลามากเกินไป คุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการพัฒนาและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ปัจจุบันสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติจัดปลาบึกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (critically endangered) และติดอยู่ในบัญชี ไซเตส กลุ่ม 1 ชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าท้ายบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) (ลำดับที่ 909)

ลักษณะทั่วไปของปลาบึก (Morphology)

ปลาบึกเป็นปลาขนาดใหญ่มีรูปร่างเพรียวขาวแบนข้างเล็กน้อย ลูกปลาบึกขนาดเล็กมีสีคล้ำเหลือบเหลือง ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำตามยาว 1 ถึง 2 แถบ ครีบหางตอนบนและล่างมีแถบสีคล้ำตามยาว ในปลาขนาดใหญ่ด้านหลังของลำตัวจะมีสีเทาอมน้ำตาลแดง ด้านข้างเป็นสีเทาปนน้ำเงินและจางกว่าด้านหลัง เมื่อค่อนลงมาทางท้องสีจะจางลงเรื่อยๆ จนเป็นสีขาวเงิน ตามลำตัวมีจุดสีดำค่อนข้างกลมกระจายอยู่ห่างๆ กันเกือบทั่วตัว

ถิ่นที่อยู่อาศัย 

ปลาบึกอาศัยในแม่น้ำโขงตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาจนถึงเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ แต่ไม่เคยปรากฏว่า พบในบริเวณน้ำกร่อยหรือบริเวณปากแม่น้ำโขงที่ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ โดยปลาบึกชอบอาศัยอยู่ในบริเวณระดับน้ำลึกมากกว่าสิบเมตร พื้นท้องน้ำเต็มไปด้วยก้อนหินและโขดหินสลับซับซ้อนกัน และชอบอาศัยอยู่ตามถ้ำใต้น้ำ เพื่อเป็นที่หลบซ่อนตัว ปลาบึกพบเฉพาะในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แม้ว่าบางครั้งอาจจับปลาบึกได้จากแม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง เช่นแม่น้ำสงคราม จังหวัดนครพนม แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำงึมแขวงนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว 

ปลาบึกได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งแม่น้ำโขง” และมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ไตรราช” ขณะที่ชาวจีนจะเรียกว่า “ปลาขงเบ้ง” เนื่องจากมีปรัมปราเล่าว่า ขงเบ้งเมื่อครั้งยกทัพมาทำศึกในภาคใต้ของจีนนั้นได้เกิดเสบียงอาหารขาดแคลน จึงอธิษฐานแล้วโยนกุนเชียงลงในน้ำกลายเป็นปลาขนาดใหญ่เพื่อเป็นเสบียงของกองทัพ คือ ปลาบึก

ปลาบึกถือเป็นอาหารที่ราคาสูงในประเทศลาว ในอดีตมีการประกอบพิธีกรรมร่วมกับการจับปลาชนิดนี้ ซึ่งมีการจับเพียงครั้งเดียวต่อปี และเนื้อปลาก็พบเห็นได้น้อยตามตลาด นอกจากเนื้อแล้ว ตับและไข่ปลาหมักเป็นอาหารรสชาติดี เนื้อปลาบึกมีราคาซื้อขายที่แพงเนื่องจากเป็นปลาที่ไม่ได้มีการเพาะเลี้ยง จึงไม่สามารถกำหนดขนาดของปลาได้ และได้มาจากการจับในฤดูกาลเท่านั้น ปลาบึกมีความเชื่อว่า เมื่อได้รับประทานแล้วจะมีอายุยืนยาว เนื้อของปลาบึกจะมีลักษณะคล้ายกับหมูสามชั้น มีชั้นของหนัง, ไขมัน และเนื้อ และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย

ปลาบึกที่มีขายในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมเทียม โดยกรมประมงสามารถผสมเทียมได้ทั้งในบ่อดินและปัจจุบันสามารถเพาะได้ในบ่อปูนซีเมนต์ได้ด้วย โดยได้ลูกปลาออกมานำไปปล่อยในแหล่งน้ำหลายแห่งในประเทศ มีเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และบ่อน้ำภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เป็นต้ร โดยมีการกำหนดให้จับได้เป็นช่วงระยะเวลาและปริมาณที่ชัดเจน เช่น ที่เขื่อนแก่งกระจานมีการปล่อยปลาบึกลงไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 มีกำหนดในช่วงปลายปีถึงต้นปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ที่น้ำจะมีอุณหภูมิเย็น ปลาบึกจะลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำเพื่อเล่นน้ำ ทำให้จับได้ง่าย

Back To Top